โซเดียม ทำให้ตัวบวม?

วันนี้เราจะมาถาม-ตอบ กันในเรื่อง “โซเดียมทำให้ตัวบวม?” คำถามง่ายๆที่หลายๆท่าน และแอดมินเองก็แอบสงสัย ถ้าพร้อมแล้วลุยกันเลยครับ!
Q: โซเดียมมาจากอะไร ทำไมขนม หรืออาหารถึงมีโซเดียม?
A: โซเดียมเป็นองค์ประกอบอยู่ในอาหารเกือบทุกชนิด ปริมาณขึ้นอยู่กับชนิดอาหารและการปรุงรส โซเดียมพบได้สูงในอาหารสำเร็จรูป อาหารที่ใช้เกลือในการถนอมอาหาร เครื่องปรุงรสต่างๆ นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงอยู่ในอาหาร เช่น ผงฟู เบกกิ้งโซดา สารกันเสีย สารกันรา ฯลฯ ซึ่งเป็นส่วนประกอบในขนมปัง เค้ก เบเกอรี่ ทั้งนี้ในอาหารตามธรรมชาติก็มีโซเดียมเช่นกัน เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ แต่จะมีปริมาณน้อยกว่าอาหารที่ผ่านการแปรรูปแล้ว และอาหารประเภทธัญพืช ผัก ผลไม้ มักมีโซเดียมน้อยกว่าอาหารประเภทเนื้อสัตว์และนม
Q: โซเดียมมีรสชาติมั้ย?
A: เป็นคำถามที่อาจจะฟังดูประหลาด แต่มีหลายคนคงอยากจะรู้(รึป่าวไม่แน่ใจ) อันที่จริงแล้วโซเดียมเป็นแร่ธาตุ โดยมากจะอยู่ในอาหารที่มีรสชาติเค็ม เช่น เกลือ เกลือแกง กะปิ น้ำปลา อาหารหมักดอง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาหารบางชนิดที่ไม่มีรสเค็มแต่มีโซเดียมแฝงอยู่ เช่น ผงชูรส ผงฟู ฯลฯ ได้เช่นกัน
Q: ทานมากๆ ทำให้ตัวบวมได้จริงเหรอ?
A: โดยปกติโซเดียมจะทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย หากร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ร่างกายจะดูดซึมน้ำเก็บไว้ที่ ”ใต้ผิวหนัง” มากขึ้น จึงทำให้เกิดอาการบวมน้ำได้และหากบริโภคเกินความต้องการของร่างกาย เป็นระยะเวลานานๆ อาจทำให้เป็นโรคไต ความความดันฯ โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ได้เช่นกัน
Q: ปริมาณที่แนะนำต่อวัน
A: สำหรับผู้ใหญ่ ปริมาณโซเดียมที่แนะนำ คือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
สำหรับเด็กอายุ 2-15 ปี ปริมาณโซเดียมควรลดสัดส่วนตามความต้องการพลังงานที่ลดลง หรือสามารถดูได้ตามฉลากโภชนาการที่อยู่บนซองขนม หรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ
Q: ประโยชน์ของโซเดียมคืออะไร
A: เรามักจะมองโซเดียมในมุมที่ให้โทษ แต่ถ้าหากเราได้รับในปริมาณที่เหมาะสม เจ้าโซเดียมจะช่วยควบคุมสมดุลของเกลือแร่ กรด-ด่าง ของเหลวในร่างกาย ทำให้ระบบไหลเวียนของของเหลวภายในร่างกายเป็นปกติ ควบคุมความดันโลหิต ควบคุมการเต้นของหัวใจ ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตโซเดียมได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหาร (ในปริมาณที่เหมาะสม)
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก คุณมญชุ์นภา ฉันทรางกูร นักวิชาการโภชนาการ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน