เชื้อโรคที่มากับอาหารการกิน ในช่วงน้ำท่วมขัง

ช่วงนี้บางพื้นที่อาจจะประสบปัญหาน้ำท่วม จะเดินทาง หรือหาของมารับประทานก็คงจะยากลำบากน่าดู ทางรพ.ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ประสบปัญหาอุทกภัยด้วยนะครับ กลับเข้ามาที่เรื่องสาระความรู้ในวันนี้ บางพื้นที่มีน้ำท่วมขังการจะรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มอาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนมาด้วย โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเลยขอนำ Q&A (ถาม-ตอบ) แบบที่ประชาชนทั่วไปน่าจะเข้าใจได้ง่ายมานำเสนอครับ โดยวันนี้ได้รับเกรียติจาก รศ.ดร.องอาจ มหิทธิกร หัวหน้าภาควิชาพยาธิโปรโตซัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล  มาตอบคำถามต่างๆเกี่ยวกับเชื้อโรคที่อาจจะมากับอาหารการกินในช่วงน้ำท่วมขัง

 

ถาม : ก่อนอื่นอยากให้อธิบายคร่าวๆให้ประชาชนทั่วไปทราบว่า อะไรคือพยาธิโปรโตซัวครับ?

ตอบ: โปรโตซัวเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวขนาดเล็กไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า โดยทั่วไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่ควบคุมจำนวนของแบคทีเรีย แต่มีโปรโตซัวบางชนิดจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในสิ่งมีชีวิตอื่นและทำให้เกิดโรค จึงเรียกโปรโตซัวกลุ่มนี้ว่า “พยาธิโปรโตซัว” ครับ

 

ถาม: ช่วงนี้บางพื้นที่มีน้ำท่วมขัง มีเชื้อโรคชนิดใดบ้างที่ต้องระวังเป็นพิเศษ?

ตอบ: ช่วงน้ำท่วมขังอาจมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคหลายชนิดเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากวันนี้พูดถึงพยาธิโปรโตซัว ก็อยากให้ระวังควรระวังโปรโตซัวกลุ่มที่อาศัยอยู่ในลำไส้ พวกนี้จะออกมากับอุจจาระคนหรือสัตว์ ยกตัวอย่างที่เราเคยได้ยินชื่อมาบ้างก็คือ โรคบิดมีตัวครับ

 

ถาม: อาจจะติด หรือได้รับเชื้อโรคบิดมีตัวได้ยังไงบ้างครับ?

ตอบ: โดยปกติระยะติดต่อที่ออกมากับอุจจาระคนที่ถ่ายนอกส้วมหรือมูลสัตว์ จะปนเปื้อนผักผลไม้หรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เรามักจะได้รับเชื้อจากการกินอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด แต่ในสถานการณ์น้ำท่วม น้ำอาจจะพัดพาเอาเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมมาใกล้ชิดเรามากขึ้น ซึ่งการที่มือเราสัมผัสน้ำแล้วไม่ล้างมือก่อนกินก็อาจเป็นช่องทางให้เชื้อเหล่านี้เข้าปากเราได้

 

ถาม: น้ำที่กรองแล้ว ต้องทำการต้มอีกมั้ยครับ?

ตอบ: ถ้าเครื่องกรองและแผ่นกรองยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่ต้องทำการต้มอีก เนื่องจากเครื่องกรองน้ำที่ได้มาตรฐานจะมีระบบ UV โอโซน หรือแผ่นกรองที่สามารถกำจัดพยาธิโปรโตซัว หรือเชื้อก่อโรคอื่นๆ ที่อาจปนเปื้อนในน้ำได้ครับ

 

ถาม: น้ำฝนที่เก็บไว้ในตุ่มนำมาดื่มได้เลยมั้ย เสี่ยงต่อเชื้อโรคอะไรบ้างครับ?

ตอบ: ไม่ได้ครับ! ควรนำมาผ่านการต้มหรือกรองก่อน เนื่องจากบนหลังคาบ้านและรางน้ำฝนไม่สะอาดจากมูลสัตว์เช่น นก หนู แมว ฯลฯ ที่จะถูกฝนชะล้างลงมาในตุ่ม นอกจากพยาธิโปรโตซัวแล้วยังเสี่ยงอีกหลายเชื้อโรคด้วย

 

ถาม: ถ้าได้รับเชื้อแล้ว อาการจะเป็นยังไงบ้าง?

ตอบ: อาจไม่มีอาการ หากมี จะเป็นอาการโดยทั่วไปของเชื้อโรคทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง เป็นต้น

 

ถาม: อาการจะรุนแรงได้แค่ไหนครับ ถึงขั้นเสียชีวิตได้มั้ย?

ตอบ: ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น จำนวนเชื้อที่ได้รับ อายุของผู้ป่วย ความแข็งแรงของผู้ป่วย ในเด็กเล็กและผู้ที่มีภาวะภูมิคุมกันบกพร่องอาจถึงขั้นเสียชีวิตจากอาการท้องเสียรุนแรงและเรื้อรังได้ แต่ในผู้ที่แข็งแรงดี ทั่วไปอาการมักหายเองได้

 

ถาม: การดูแลรักษาอาการเบื้องต้น ทำยังไงบ้างครับ?

ตอบ: ดื่มน้ำให้มาก หรือใช้ผงน้ำตาลเกลือแร่ ORS เพื่อทดแทนของเหลวและเกลือแร่สำคัญที่ร่างกายสูญเสียไปจากอาการท้องเสีย พักผ่อนให้เพียงพอ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์

 

ถาม: การป้องกันตนเอง

ตอบ: ใช้แนวทางการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลทั่วไปครับ ดื่มน้ำและทานอาหารสะอาด ผักและผลไม้ควรล้างให้ดีก่อนกิน ไม่ถ่ายอุจจาระนอกส้วม ล้างมือด้วยสบู่หลังทำกิจกรรมต่างๆ และก่อนรับประทานอาหาร (เนื่องจากแอลกอฮอล์ไม่สามารถฆ่าพยาธิโปรโตซัวได้) ทั้งนี้ควรรักษาสุขภาพกายและใจให้สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีอารมณ์ดี ก็จะทำให้ร่างกายเราสามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้ครับ

 

ขอขอบคุณ

  • รศ.ดร.องอาจ มหิทธิกร หัวหน้าภาควิชาพยาธิโปรโตซัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล