คู่มือการส่งตรวจวิเคราะห์โรคติดเชื้อ SARS-CoV-2 (COVID-19)
ห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน (TMDR)

**NEW** ขณะนี้ทาง TMDR สามารถตรวจ PCR และ Antibody for SAR-CoV2 โดยวิธี ELISA test ได้แล้ว

download คู่มือส่งตรวจ pdf

1. การเก็บวัตถุตัวอย่าง

เพื่อให้การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมีความถูกต้องและแม่นยำ ผู้เก็บสิ่งส่งตรวจควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี

1.1 การเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจ PCR

    • ก่อนเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย ควรเตรียมวัสดุที่จะใช้ให้พร้อมรวมถึงหลอดเก็บตัวอย่าง รายละเอียดของผู้ป่วย เช่น ชื่อผู้ป่วย ชนิดตัวอย่าง วันเดือนปี บนฉลากข้างหลอด และปิดทับสลากด้วยวัสดุกันน้ำ
    • เก็บตัวอย่างเร็วที่สุด เมื่อผู้ป่วยเริ่มปรากฎอาการของโรค อย่างช้าภายใน 3-5 วัน
    • ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ปอดบวม ปอดอักเสบ ควรเก็บตัวอย่างจากระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น bronchoalveolar, tracheal aspirate, sputum ให้ใส่ภาชนะปลอดเชื้อไม่ต้องใส่ UTM/VTM ยกเว้นกรณีผู้ป่วยใส่ tube ให้ตัดสาย ET-tube จุ่มลงใหลอด UTM/VTM และควรเก็บตัวอย่างจากทางเดินหายใจส่วนบนควบคู่ไปด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสการพบเชื้อจากการเก็บตัวอย่างหลายระบบ
    • ผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ให้เก็บตัวอย่าง เช่น nasopharyngeal aspirate, nasopharyngeal wash, nasopharyngeal swab, throat swab
    • ผู้ป่วยที่เก็บตัวอย่างเป็น swab ควรเก็บ nasopharyngeal swab ร่วมกับ throat swab ใส่ใน UTM/VTM ในหลอดเดียวกันเพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อไวรัส (ใช้ Dacron หรือ Rayon swab ที่ก้านทำด้วยลวดหรือพลาสติก และไม่มีสาร calcium alginate เมื่อป้ายเสร็จให้จุ่มลงในหลอด UTM/VTM แล้วหักหรือตัดปลายด้าม swab ทิ้งเพื่อปิดหลอดตัวอย่างได้สนิท
    • บรรจุตัวอย่างในหลอดที่ป้องกันการรั่วไหล (Leak proof) เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว ปิดฝาหลอดหรือภาชนะเก็บตัวอย่างให้สนิทพันด้วย เทป แล้วถอดถุงมือชั้นนอกสุด เปลี่ยนสวมถุงมือคู่ใหม่เพื่อลดการปนเปื้อน ภายนอกหลอดวัตถุตัวอย่าง โดยเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 0.1 % โซดียมไฮโปคลอไรต์
    • เมื่อเก็บตัวอย่างแล้วต้องแช่ในกระติกน้ำแข็งทันทีหรือเก็บในตู้เย็น อุณหภูมิ 4-8 °C แล้วส่งห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชั่วโมง กรณีที่ไม่สามารถส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง ให้เก็บในตู้แช่ที่อุณหภูมิตั้งแต่ -70 °C ขึ้นไป

1.2 การเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจแอนติบอดีชนิด IgA และ IgG ต่อเชื้อ SAR-CoV-2 ด้วยวิธี ELISA

    • ก่อนเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย ควรเตรียมวัสดุที่จะใช้ให้พร้อมรวมถึงหลอดเก็บตัวอย่าง รายละเอียดของผู้ป่วย เช่น ชื่อผู้ป่วย ชนิดตัวอย่าง วันเดือนปีบนฉลากข้างหลอดและปิดทับสลากด้วยวัสดุกันน้ำ และสวมใส่ PPE ให้เหมาะสม
    • ชนิดของตัวอย่างที่เหมาะสมในการตรวจวิเคราะห์มี 3 ชนิด คือ serum, EDTA plasma และ heparin plasma
    • เก็บตัวอย่างเลือดในหลอดเก็บเลือดชนิด clotted blood หรือ EDTA blood หรือ heparin blood อย่างน้อย 2 mL
      แล้วเก็บตัวอย่างเลือดในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2-8 °C ส่งห้องปฏิบัติการภายใน 24 ชั่วโมง หากยังไม่สามารถส่งได้ให้ทำการปั่นแยก serum หรือ plasma เก็บไว้ที่อุณหภูมิ -20 °C ขึ้นไป
    • ในกรณีที่ต้องการส่งตัวอย่างเป็น plasma หรือ serum ให้เก็บปริมาตรอย่างน้อย 0.5 mL บรรจุตัวอย่างในหลอดที่ป้องกันการรั่วไหล (Leak proof)
    • เมื่อเก็บตัวอย่างเรียบร้อยแล้ว ปิดฝาหลอดหรือภาชนะเก็บตัวอย่างให้สนิทพันด้วย เทป แล้วถอดถุงมือชั้นนอกสุด เปลี่ยนสวมถุงมือคู่ใหม่เพื่อลดการปนเปื้อน ภายนอกหลอดวัตถุตัวอย่างให้เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ 1 % โซดียมไฮโปคลอไรต์

2. การบรรจุวัตถุตัวอย่างเพื่อส่งห้องปฏิบัติการ

    • พันรอบหลอดวัตถุตัวอย่างด้วยวัสดุดูดซับของเหลว โดยวัสดุดูดซับของเหลวที่ใช้ต้องเพียงพอที่จะสามารถดูดซับของเหลวจากภาชนะทั้งหมดได้ในกรณีที่ภาชนะชั้นในแตกหักหรือรั่ว
    • ใส่ถุงซิปชั้นที่ 1 แล้วทำความสะอาดภายนอกด้วย 70 % แอลกอฮอล์ สวมถุงมือคู่ใหม่ สวมถุงซิปชั้นที่ 2 และ ชั้นที่ 3 ทำความสะอาดถุงซิปอีกครั้งด้วย 70 % แอลกอฮอล์
    • นำหลอดวัตถุตัวอย่างในถุงพลาสติกซิป 3 ชั้นใส่ลงในกระป๋องพลาสติกที่แข็งแรง (ภาชนะชั้นที่ 2) ป้องกันการรั่วไหลได้ดี มีฝาปิดสนิทไม่รั่วซึม สามารถทนแรงกระแทกได้ และฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายนอกกระป๋อง]
    • นำกระป๋องใส่ลงในกล่องโฟม (ภาชนะชั้นที่ 3) ที่มีคุณสมบัติแข็งแรงทนต่อการกระแทก นำ ice pack ใส่ลงไปในช่องว่างระหว่างกล่องโฟม (ภาชนะชั้นที่ 3) และกระป๋อง (ภาชนะชั้นที่ 2) ให้เพียงพอ เพื่อควบคุมอุณหภูมิให้ได้ระหว่าง 4-8°C ตลอดการขนส่ง พันเทปกาวที่ฝากล่องโฟมให้เรียบร้อย ฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อภายนอกกล่องโฟม
    • ด้านนอกกล่องโฟม (ภาชนะชั้นที่ 3) ให้แสดงรายละเอียดได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ ผู้รับ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของผู้ควบคุมการขนส่ง ชื่อผู้ส่ง หมายเลขโทรศัพท์ผู้ส่ง ติดตราสัญลักษณ์สารชีวภาพอันตราย สัญลักษณ์ลูกศรแสดงทิศทางการวางบรรจุภัณฑ์
    • ถอดชุด PPE ทิ้งในถังขยะติดเชื้อแล้วนำไปทำลายหรือฆ่าเชื้อ

3. การขนส่งวัตถุตัวอย่างมายังห้องปฏิบัติการ

    • ขนส่งกล่องวัตถุตัวอย่างด้วยรถยนต์
    • วางกล่องวัตถุตัวอย่างในพื้นที่ราบมีอุปกรณ์ช่วยยึดกล่องให้อยู่ติดกับตัวรถอย่างมั่นคง
    • ไม่วางวัตถุตัวอย่างบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง
    • ควรมีชุดเก็บกวาดสารชีวภาพหกหล่น (Biological spill kit) ประจำรถไปด้วยเพื่อใช้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

4. สถานที่ส่งสิ่งต่งตรวจ

    • ส่งวัตถุตัวอย่างมาที่ ห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ที่อยู่ ชั้น 8 อาคาราชนครินทร์ (ตึกโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน) คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล 420/6 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

5. ขั้นตอนการส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

    • นำวัตถุตัวอย่างมาส่งพร้อมแนบใบขอตรวจ สามารถดาวน์โหลดใบขอตรวจได้ที่ https://www.tm.mahidol.ac.th/tmdr-lab/?q=forms มาติดต่อที่แผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ COVID-19 ทางห้องปฏิบัติการและชำระค่าบริการ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะดำเนินการส่งตัวอย่างมายังห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านโรคเขตร้อน
    • ในกรณีที่ผู้ใช้บริการต้องการส่งวัตถุตัวอย่างตั้งแต่ 10 ตัวอย่างขึ้นไปต่อครั้ง สามารถขอลดหย่อนค่าบริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการได้ โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่เวชระเบียนของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อให้ดำเนินการลดหย่อนค่าบริการให้
    • ในกรณีที่ต้องการชำระค่าบริการแบบติดเครดิต ให้ผู้ใช้บริการติดต่อสอบถามขั้นตอนการชำระค่าบริการกับเจ้าหน้าที่แผนกเวชระเบียนของโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนที่เบอร์โทรศัพท์ 02-3069199 (ในเวลาราชการ) 02-3069148 (นอกเวลาราชการ) ก่อนล่วงหน้าที่จะทำการส่งตัวอย่าง หากไม่ติดต่อขอเปิดสิทธิก่อนล่วงหน้าจะต้องชำระค่าบริการเป็นเงินสด
    • ในกรณีที่ผู้ใช้บริการต้องการสอบถามรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการได้โดยตรงที่เบอร์โทรศัพท์ 02-3069100 ต่อ 3082 ติดต่อ รศ.ดร. พรสวรรค์ เหลืองวุฒิวงษ์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการ หรือ นางสาวนันทรัตน์ จันทวัติ ผู้ประสานงานห้องปฏิบัติการ ในวันและเวลาราชการ

หมายเหตุ:

  • โดยปกติห้องปฏิบัติการจะทำการตรวจวิเคราะห์ 1 รอบต่อวัน แต่ถ้าหากตัวอย่างที่ตรวจวิเคราะห์มีจำนวนมากห้องปฏิบัติการจะพิจารณาเปิดตรวจวิเคราะห์ 2 รอบต่อวัน ดังนั้นหากผู้ใช้บริการต้องการส่งตรวจรอบที่ 2 ให้โทรศัพท์สอบถามเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-306-9100 ต่อ 3082

เอกสารอ้างอิง:

  • คู่มือการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทางห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข