โรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis)

🌧🌧🌧ฝนตกอีกแล้ว…. เชื่อว่าทุกท่านคงเคยได้ยินชื่อโรคไข้ฉี่หนู หรือ เลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) ที่พูดกันบ่อยๆ แต่แท้ที่จริงแล้วผู้ร้ายไม่ใช่แค่หนูตามชื่อ แต่ยังรวมไปถึง หมา แมว วัว ควาย หมู ฯลฯ จึงเกิดเป็นมหากาพย์ความรู้ในวันนี้ ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลยครับ
ถาม: อ่าว แล้วทำไมถึงเรียกว่าไข้ฉี่หนู?
ตอบ: ในตอนแรกๆที่มีการค้นพบโรคนี้ พบว่าเชื้ออยู่ในปัสสาวะของหนู จึงเรียกว่าฉี่หนู แต่ภายหลังพบว่าสัตว์อื่นก็นำโรคได้ แต่ก็ยังเรียกโรคฉี่หนูเรื่อยมาด้วยความเคยชินครับ
ถาม: ใครบ้างที่จะเสี่ยงโรคนี้?
ตอบ: ต้องขอเกริ่นก่อนว่า สัตว์เหล่านี้(ที่กล่าวข้างต้น) จะมีเชื้อเลปโตสไปรา(Leptospira) อยู่ในตัวและจะติดเชื้อที่ท่อไตจากนั้นจะปล่อยเชื้อออกมากับปัสสาวะ แต่สัตว์เหล่านี้จะไม่แสดงอาการป่วยใดๆเลย ลองนึกภาพตามนะครับ พอฝนตกลงมาก็จะพัดพาเอาเชื้อพวกนี้ไปรวมกันอยู่บริเวณน้ำท่วมขัง เชื้อก็จะอาศัยอยู่ได้ในดินที่ชื้นแฉะ หรือที่มีน้ำขัง และเข้าสู่คนทางผิวหนังอ่อน เช่น ซอกนิ้วมือและเท้า หรือบาดแผล ดังนั้นมักจะพบโรคนี้ในคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ เช่น สัตวบาล เกษตรกร และผู้มีอาชีพสัมผัสกับน้ำ คนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังนานๆ หรือแม้กระทั่งผู้ที่ชอบไปท่องเที่ยวเดินป่าที่ไปย่ำนำขัง ก็อาจมีความเสี่ยงได้
ถาม: หลังจากติดเชื้ออาการจะเป็นยังไงบ้าง?
ตอบ: คนที่ได้รับเชื้ออาจมีหรือไม่มีอาการ ในผู้ที่มีอาการมักแสดงหลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน จนถึง 2-3 สัปดาห์ อาการที่สำคัญ คือ มีไข้ ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่อง ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน คือ ตัวเหลือง ตาเหลือง ไตวาย หรืออาการทางสมอง และระบบประสาท เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ไม่เช่นนั้นอาจเสียชีวิตได้(ขอย้ำว่าถึงตายได้ครับ)
ถาม: การรักษา หากมีอาการควรทำอย่างไรบ้าง?
ตอบ: หากท่านมีประวัติในการไปย่ำน้ำท่วมขัง ทำงานเกี่ยวกับการเกษตร หรืองานอื่นๆที่อาจมีความเสี่ยงต่อโรค และมีอาการมีไข้สูงเฉียบพลันหลังลุยน้ำ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อโดยเฉพาะที่น่องหรือโคนขา ขอให้นึกถึงโรคนี้ และรีบไปสถานพยาบาลใกล้บ้านโรคนี้หากรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ จะมีโอกาสหายดีสูง ซึ่งหากปล่อยให้มีอาการรุนแรงแล้วจึงรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ที่สำคัญไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมาใช้เอง เพราะอาจเป็นอันตรายจากการแพ้ยา หรือใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นควรรีบไปพบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง
แนะนำการป้องกันตนเองเบื้องต้น
ถ้าพูดง่ายๆก็คือการหลีกเลี่ยงการแช่น้ำเป็นเวลานาน หรือเดินลุยน้ำ ย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า โดยเฉพาะผู้ที่มีบาดแผลหรือรอยขีดข่วนที่เท้าต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่ชีวิตคงไม่ง่ายขนาดนั้นเข้าใจว่าหลายท่านอาจจะจำเป็นต้องทำงาน หรือต้องเดินลุยน้ำ ดังนั้นควรสวมรองเท้าบู๊ท หรือสวมถุงมือพลาสติกที่สะอาด หุ้มเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำโดยตรง ดูแลสุขอนามัยให้สะอาดอยู่เสมอ กรณีมีบาดแผลควรปิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ และรีบชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากเสร็จจากการทำงานหรือลุยน้ำ
ที่มา : หนังสือโรคเขตร้อนฉบับประชาชน เรื่องแค่ลุยน้ำก็เป็นโรคได้ :https://www.tm.mahidol.ac.th/…/book-tropical-diseases…